วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552

(FTTH : Fiber to the Home)

(FTTH : Fiber to the Home)


เทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ นับว่ามีความสำคัญต่อสังคมไทยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศ วันนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พสุ แก้วปลั่ง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จะพาท่านไปรู้จักกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่จะทำให้ท่านต้องตั้ง ตาคอยการมาถึงของมันเลยทีเดียว

“โดยส่วนตัวผมทำงานวิจัยเกี่ยวกับระบบ Fiberoptic คือระบบสื่อสารผ่านเส้นใยแสง สมัยเรียนปริญญาเอกก็จะเน้นไปที่ระบบทางไกล เช่น โยงใต้ทะเลเป็นหลายพันกิโลเมตร ว่าจะทำให้ความเร็วของการส่งข้อมูลเร็วขึ้นได้ยังไง หรือถ้ากำหนดความเร็วแล้วจะทำให้มันไปได้ไกลขึ้นได้อย่างไร แต่พอเข้ามาเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวฯ จุฬาฯ ก็ได้ศึกษาและทำการวิจัยในหลายๆ ระดับ ตั้งแต่โครงข่ายระดับ Fiber-optic ใหญ่เชื่อมโยงระหว่างเมืองจนถึงระดับ Access ซึ่งหนึ่งในโครงข่าย Fiber-optic ระดับ Access ที่ให้ความเร็วสูงสุดเท่าที่มีในปัจจุบันนั่นก็คือ Fiber to the Home (FTTH)”

  • เทคโนโลยีที่เรียกว่า Fiber to the Home นี้มีความสำคัญอย่างไร
  • “ปัจจุบันที่เราใช้โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ หรือใช้อินเตอร์เน็ต ก็เป็นการใช้ผ่านระบบสื่อสาร แต่ระบบของแต่ละอันก็แยกจากกัน ซึ่งข้อมูลแต่ละระบบก็มีความแตกต่างกัน แต่ในอนาคตเราจะพยายามโยงทุกระบบให้มาอยู่ในลักษณะข้อมูลเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรืออินเตอร์เน็ต จะมาอยู่ในรูปแบบข้อมูลของเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทั้งหมด ตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกัน เช่น Voice over IP IPTV และโทรศัพท์มือถือในยุคที่ 3 (Mobile IP) เป็นต้น”

    “นอกจากบริการที่เราเห็นกันทั่วไปแล้ว ในอนาคตเราพยายามจะทำให้ระบบทุกอย่าง เครื่องมือทุกอย่าง อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถสื่อสารข้อมูลได้ด้วยตัวมันเอง เช่น บ้านเราอาจจะติดเซนเซอร์ตามที่ต่างๆ เช่น ที่ขอบประตู เก้าอี้ ตู้เย็น ฯลฯ ก็จะสามารถสื่อสารข้อมูลได้ เช่นเราอยู่นอกบ้านเราสามารถดูผ่านมือถือได้ว่าหน้าต่างบานนั้นล๊อคหรือยัง สามารถตรวจสอบได้หมด นั่นคือจากบ้านเราสามารถสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแล้วส่งข้อมูลมา เข้ามือถือเรา หรือสั่งอัดวีดีโอผ่านมือถือได้ หรือเช็คของในตู้เย็นได้เช่น นมหรือไข่หมดหรือยังเป็นต้น”

    “เมื่อทุกอย่างสามารถสื่อสารข้อมูลได้ โครงข่ายหรือระบบสื่อสารที่ใช้ต้องรับข้อมูลปริมาณมหาศาล อย่างปัจจุบันแค่อินเตอร์เน็ตอย่างเดียวเรายังรู้สึกว่าระบบช้า ถ้าเกิดทุกอย่างสื่อสารหมดแม้แต่ประตูหน้าต่างก็สามารถส่งข้อมูลได้ก็จะยิ่ง มีปริมาณข้อมูลมหาศาล โครงข่ายที่ใช้ต้องรองรับข้อมูลปริมาณมากเหล่านั้นได้ ซึ่งระบบที่จะสามารถรองรับได้ก็คงต้องเป็นระบบเส้นใยแสงหรือ Fiber-optic ซึ่งปัจจุบันก็นำมาใช้กันแล้วอย่างโครงข่ายใต้ทะเล รวมทั้งโครงข่ายในเมืองก็เป็น Fiber-optic ดังนั้นในการที่จะให้ข้อมูลสื่อสารออกจากบ้านได้ทุกคน และมีความเร็วสูงตามที่ต้องการ ต้องมีตัวกลางที่สามารถส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็ว ดังนั้นจึงพยายามโยงเส้นใยแสงให้มาใกล้บ้านมากที่สุด ซึ่งเป็นที่มาของ Fiber to the Home นั่นเอง”

    การศึกษาขั้นบุกเบิกของระบบ FTTH ในบริเวณกรุงเทพมหานคร (CAT)

  • Fiber to the Home คืออะไรและมีประสิทธิภาพมากเพียงไร
  • “Fiber to the Home คือระบบเส้นใยแสงที่จะทำการส่งผ่านข้อมูลจาก Central Office หรือชุมสายของผู้ให้บริการไปยังบ้านเรือนของผู้ใช้บริการ โดยศักยภาพตามมาตรฐานของ Fiber to the Home ใหม่ล่าสุดที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันนี้ คือสามารถส่งข้อมูลไปถึงบ้านของเรา และส่งจากบ้านของเราไปยังชุมสายได้ความเร็วมากที่สุดถึงระดับ 2.5 Giga-bit per second (Gbps) หรือประมาณ 2,500,000,000 บิต / วินาที ถ้าจะให้เห็นภาพคือ ระบบบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตที่เราใช้อยู่ตามบ้านทุกวันนี้คือ ADSL อย่าง High speed Internet ที่บอกว่าความเร็ว 1 Mbps นั่นประมาณ 1,000,000 บิต / วินาที ก็จะเห็นว่า Fiber to the Home เร็วกว่าถึง 2,500 เท่า แล้วอย่างความเร็วของ High speed Internet ผ่านระบบ ADSL นั้น ในส่วนความเร็วของการ Upload นั้นจะต่ำกว่าความเร็วของการ Download แต่ถ้าเป็น Fiber to the Home ทั้ง upload download ความเร็วมากที่สุดจะเท่ากันคือ 2.5 Gbps นอกจากนั้น ADSL นี่สำหรับบ้านที่อยู่ไกลจากชุมสายมากจะได้ความเร็วน้อยลงไปอีก เนื่องจากใช้ข้อมูลที่อยู่ที่ความถี่สูงไม่สามารถวิ่งผ่านสายโทรศัพท์ธรรมดา ได้ระยะทางไกล โดยทั่วไปความเร็วของ ADSL จะพอรับประกันได้ในระยะไม่น่าจะเกิน 5 กิโลเมตร ฉะนั้นถ้าบ้านใครไกลจากชุมสายออกไปเกิน 5 กิโลเมตรก็จะใช้ความเร็วได้ไม่เต็มที่ แต่ Fiber to the Home จะรองรับระยะการส่งข้อมูลได้ไกลถึง 20 กิโลเมตรโดยความเร็วไม่ตกลง”

  • ในปัจจุบันเริ่มมีผู้หันมาใช้ระบบนี้กันมากขึ้น ซึ่งผู้ใช้รายใหญ่คือประเทศญี่ปุ่น
  • “ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำระบบนี้มา ใช้มากที่สุด คือเริ่มนำ Fiber to the Home มาทำเป็นระบบเชิงพาณิชย์ประมาณปี 2001 หรือ 2002 ปัจจุบันมีเกือบ 10 ล้านครัวเรือนที่ใช้เทคโนโลยีนี้อยู่ และราคาถ้าเทียบกับ ADSL ก็น่าจะแพงกว่าประมาณ 30% แต่ถ้าเทียบกับความเร็วที่ได้จะต่างกันเยอะมาก ส่วนอเมริกานั้นเนื่องจากนิยมใช้เคเบิลทีวีกันแพร่หลาย ดังนั้นการสื่อสารข้อมูลอินเตอร์เน็ตจะผ่านระบบเคเบิลทีวี ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ส่วนเกาหลี จีน ก็เริ่มนำมาใช้กันมากขึ้น”

  • สำหรับประเทศไทยก็ได้มีการริเริ่มระบบนี้กันบ้างแล้ว แต่ไม่เป็นการแพร่หลายมากนัก
  • “สำหรับประเทศไทยปัจจุบันนี้ยังไม่บูมมาก จุดแรกของประเทศไทย ดำเนินการโดยบริษัท Fiber to the Home ซึ่งเช่าสายเส้นใยแสงจากจากไฟฟ้า ให้บริการแถบสุขุมวิท สาธร ในความเร็ว 100 Mbps ซึ่งเป็นความเร็วในมาตรฐานเก่าของ Fiber to the Home และยังไม่ได้ใช้กันแพร่หลายมากนัก แต่มีแนวโน้มจะแพร่หลายมากยิ่งขึ้นเนื่องจากทางการไฟฟ้าทั้ง 3 ภาคส่วนเองเริ่มสนใจที่จะนำมาใช้โดยกำลังอยู่ในระหว่างการวางแผนว่าการไฟฟ้า จะทำเองหรือจะให้บริษัทเอกชนรายไหนมาเช่าไปดำเนินการ ซึ่งผมก็เคยรับงานบางส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมาศึกษาอยู่”

    “อย่างบริษัท CAT นี่ผมก็ไปทำการศึกษาออกแบบลงพื้นที่นำร่องให้เมื่อปีที่แล้วว่าถ้าจะทำใน กรุงเทพฯ ต้องลงทุนประมาณเท่าไร ตกถึงผู้ใช้บริการแล้วต้องจ่ายค่าใช้บริการเดือนละเท่าไร ซึ่งทางบริษัทก็สนใจพอสมควร เพราะอย่างไรก็ตามคาดว่าเทคโนโลยีนี้ต้องมาแทน ADSL อย่างแน่นอน ส่วน ToT นี่ทดลองวางจริงเลย โดยทำที่ภูเก็ตคาดว่าปีนี้จะลองให้บริการจริงเป็นพื้นที่นำร่อง และหน่วยวิจัยของ ToT ก็มีการซื้อชุดทดลองระบบ Fiber to the home นี้มาและวางแผนทำการทดลองว่าจะสามารถพัฒนาอะไรต่อได้บ้าง”

  • ระบบ Fiber to the Home จะเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยได้อย่างไร
  • “ถ้าจะทำให้ประเทศเรานิยมใช้ Fiber to the Home อย่างประเทศญี่ปุ่นนี่ ต้องผลักดันจากผู้ใช้งาน อย่างประเทศญี่ปุ่นจะมีโฆษณาว่าสามารถสั่ง VDO on Demand ได้ โดยต้องใช้ระบบ FTTH คนก็จะนิยมกันมาก เพราะที่ญี่ปุ่นจะไม่มีของละเมิดลิขสิทธิ์ การไปเช่าวิดีโอมาดูจึงราคาแพงพอสมควร ดังนั้นจึงต้องดูว่าประเทศเราควรจะผลักดันบริการส่วนไหนจึงจะทำให้คนใน ประเทศมีความสนใจระบบนี้มากขึ้น พอคนสนใจบริการนั้นๆ เค้าก็จะเรียนรู้ว่าต้องใช้ระบบ FTTH จึงจะใช้บริการนั้นได้ ระบบนี้ก็จะมีคนสนใจและได้รับความนิยมขึ้นมา เช่นคนไทยอาจจะสนใจ HDTV (High Definition TV) คือทีวีที่มีความชัดมากๆ ซึ่งถ้าจะส่งผ่านสายเคเบิลธรรมดานี่เป็นเรื่องยาก ส่งผ่าน ADSL นี่แทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นถ้าเราอาจโปรโมต HDTV เมื่อคนสนใจก็จะมีการใช้ Fiber to the Home แพร่หลายขึ้น และอีกส่วนหนึ่งที่คิดว่าคนน่าจะสนใจกันมากคือ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งถ้าผ่านระบบ Fiber to the Home จะมีความเร็วสูงมาก การ Download ต่างๆ ก็จะทำได้ง่ายขึ้น”

  • ประโยชน์ของ Fiber to the Home นอกจากจะเกิดกับวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปแล้ว ยังยังสามารถช่วยพัฒนาบริการทั้งหลายที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศได้ อีกด้วย
  • “อย่างเช่น การแพทย์ทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ต (Telemedicine) คือ เราอยู่ส่วนหนึ่งของประเทศเราสามารถปรึกษาแพทย์ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของประเทศ ได้ โดยการส่งรูป ส่งฟิล์มเอ๊กซ์เรย์ ทั้งหลายผ่านทางอินเตอร์เน็ต ไปปรึกษาแพทย์แบบ Real time ได้ หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดทางไกลที่ว่าต้องมีการควบคุมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอยู่อีกที่หนึ่ง ซึ่งต้องใช้ข้อมูลสื่อสารแบบ Real timeในการดำเนินงานจำนวนมหาศาล หรือพวก E-education คือคนสอนอยู่อีกที่หนึ่งคนเรียนอยู่อีกที่หนึ่ง สอนโดยผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งต้องใช้การสื่อสารข้อมูลจำนวนมหาศาลเช่นกัน ซึ่งถ้าระบบนี้มีการแพร่หลายและเชื่อมโยงไปทั่วทุกที่ก็จะช่วยในการพัฒนา คุณภาพชีวิตของประชากร และพัฒนาประเทศได้”

    “นอกจากนั้นยังช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรม คือเมื่อใช้ระบบ Fiber to the Home ก็มีความต้องใช้ Modem สำหรับ Fiber to the Home โดยเฉพาะเพื่อแปลงสัญญาณแสงเป็นสัญญาณไฟฟ้า รวมทั้งอุปกรณ์เสริมต่างๆ ซึ่งเมื่อมีการใช้แพร่หลายและเราต้องนำเข้าจากต่างประเทศก็จะต้องใช้ค่าใช้ จ่ายสูงเนื่องจากมีราคาแพง ถ้าเราสามารถผลิตเองได้ในประเทศซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตในประเทศ ก็จะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมได้”

  • และอาจารย์ก็ได้ให้ความเห็นว่า คนไทยจะต้องได้รู้จักและหันมาใช้ระบบ Fiber to the Home ในเร็ววันนี้แน่นอน
  • “สำหรับระบบ Fiber to the Home นี้คิดว่าจะแพร่หลายในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว โดยในกรุงเทพมหานครนี้คิดว่าคงจะแพร่หลายกันในระยะเวลาประมาณ 3 ปีนี้อย่างแน่นอน”

  • นอกจากนั้นแล้วอาจารย์ยังได้ทำการวิจัยในส่วนอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกันอีกด้วย
  • “อย่างที่ได้กล่าวว่าจริงๆ ผมศึกษามาทางด้านการเชื่อมโยงระบบทางไกลเป็นพันๆ กิโลเมตร แต่เมื่อมาทำงานก็เน้นไปที่การโยงเครือข่ายจากบ้านไปยังชุมสายอย่าง Fiber to the Home รวมทั้งเน็ตเวิร์คซึ่งเป็นโครงข่ายในระดับเมือง นอกจากนั้นยังพัฒนาในส่วนที่เรียกว่า All optical signal processing หมายความว่าการประมวลผลสัญญาณในรูปแบบของแสงโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้ามายุ่ง ปกติตัวสัญญาณข้อมูลแสงนั้นทำให้มันช้า มันหยุด หรือจับใส่ฮาร์ดดิสก์เหมือนข้อมูลในรูปแบบของทางไฟฟ้าไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ผมทำคือทำการศึกษาว่าทำอย่างไรจะทำให้แสงมันช้า หรือจะหยุดเวลาของแสงได้อย่างไร หรือว่าทำอย่างไรจะแปลงความยาวคลื่นของแสงโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเลย นี่คือสิ่งที่กลุ่มของผมทำการวิจัยอยู่ด้วย”

  • นอกจากนั้นอาจารย์ยังสนใจศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยทางด้านการสื่อสารแบบไร้สาย ซึ่งก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
  • “นอกจากทำในเรื่องพวกนี้แล้วผมยังฉีกแนวทำ เรื่องอื่นอีก คือระบบ Fiber-optic นี่โดยปกติต้องใช้สายในการส่งสัญญาณ ในขณะที่ทำงานเกี่ยวกับระบบใช้สายสัญญาณนั้น ผมก็ศึกษาวิจัยอยู่กับระบบไร้สายด้วย”

    “ในอนาคตที่พูดถึง Fiber to the Home แล้วเรายังมีอินเตอร์เน็ตผ่านระบบที่เรียกว่าระบบไร้สายหรือ Wi-max บางท่านคงรู้จักระบบ Wi-fi ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่ง Wi-fi มีรัศมีประมาณ 30-100 เมตร แต่ Wi-max มีรัศมีประมาณ 50 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 75 Mbps เพราะฉะนั้นถ้ารัศมีกว้างขนาดนี้เราสามารถเล่นอินเตอร์เนตในรถได้ หรือใช้งานขณะเดินไปเดินมาได้ หรือถ้ามหาวิทยาลัยติดตั้งตัวส่งสัญญาณตัวเดียวนี่สามารถใช้ได้ทั้ง มหาวิทยาลัย ซึ่งกลุ่มของผมก็ทำวิจัยทางด้านนี้ด้วย ”

  • และสิ่งที่อาจารย์อยากจะฝากไว้ก็คือ
  • “ในปัจจุบันเทคโนโลยีด้านต่างๆ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วให้มีประสิทธิภาพการใช้งานต่างๆ สูงขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้งาน คือประชาชนทั่วไปได้รับความสะดวกสบายในการใช้งาน โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็รู้สึกภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงอยากให้ทุกคนคอยติดตามความก้าวหน้าต่างๆ เหล่านี้”

    ไม่มีความคิดเห็น: